แนะนำสถานที่


ศาลาพระหยกเขียว

ศาลาปฏิบัติธรรมรูปทรงจตุรัสโปร่ง รายรอบด้วยบานกระจกขนาดใหญ่ เพื่อให้สัมผัสกับธรรมชาติของขุนเขาเขียวชอุ่ม พร้อมทั้งมีสวนดอกไม้ ต้นไม้นานาพรรณโดยรอบ
พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง และได้แรงศรัทธาของช่างชาวบ้านหมู่บ้านทางแดงเป็นผู้ก่อสร้าง ซึ่งผสมผสานงานปูน งานไม้ พร้อมศิลปะลวดลายไทยที่งดงาม ประดับทั้งภายนอกและภายในอย่างลงตัว
พระอาจารย์อำนาจ โอภาโส ดูแลการก่อสร้าง โดยใช้จินตนาการของท่าน แล้วบอกให้เหล่าช่างชาวบ้านดำเนินการตามที่ท่านบอกเป็นระยะๆ ใช้เวลาประมาณ ๑ ปี ศาลาปฏิบัติธรรมที่สง่างาม เรียบง่าย เต็มไปด้วยประโยชน์ใช้สอยอย่างสูงสุดก็แล้วเสร็จ

พระพุทธเลิศรัตนโชติมณี

พระรัตนโชติมณี หรือ “พระหยกเขียว” เป็นพระพุทธรูปหยกปางมารวิชัย ซึ่งเป็นศิลปะสมัยเชียงแสน มีขนาดหน้าตัก ๖๕ นิ้ว
ทั้งองค์พระถูกแกะสลักจากหยกเขียวทั้งก้อน ที่พระเศียรได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็น พระสารีริกธาตุที่รับเมตตาประทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
โดยทำพิธีอัญเชิญประดิษฐาน ณ ศาลาปฏิบัติธรรม ในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๘

พระพุทธรัตนสัมฤทธิ์ผล

พระพุทธรัตนสัมฤทธิ์ผล หรือ “พระหยกขาว” เป็นพระพุทธรูปหยกปางขัดสมาธิเพชร สร้างตามรูปแบบศิลปะคันธาระ มีขนาดหน้าตัก ๓๙ นิ้ว พระเศียรขององค์พระ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับเมตตาประทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ได้ทำพิธีอัญเชิญประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว ในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๘

ลานพระสีวลี

สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พุทธมหาสาวก “พระสีวลี”
ประวัติพระสีวลี
พระสีวลี เป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา ราชธิดาแห่งโกลิยนคร ตั้งแต่ท่านจุติถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ได้ทำให้ลาภสักการะเกิดขึ้นแก่พระมารดาเป็นอันมาก (ท่านอาศัยอยู่ในครรภ์มารดานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน)
สีวลีกุมาร เป็นผู้มีใจน้อมไปในการบวช เมื่อพระชนม์ ๗ พรรษา ได้กราบทูลขออนุญาตจากพระบิดาพระมารดา แล้วเสด็จไปยังพระอาราม ตามคำชักชวนของพระสารีบุตรเถระ
พระสารีบุตรเถระรับภาระเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้สอนพระกรรมฐานเบื้องต้นแก่สีวลีกุมาร คือ ตจปัญจกกรรมฐาน (กรรมฐานที่ให้พิจารณาที่ตั้งทั้ง ๕ คือ เกสา (ผม) โลมา (ขน) นขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตโจ (หนัง) ว่าเป็นของไม่งามสกปรก ไม่ควรเข้าไปยึดติดหลงใหล สีวลีกุมาร ได้สดับพระกรรมฐานแล้วนำไปพิจารณา ในขณะที่กำลังจรดมีดโกน เพื่อโกนผมครั้งแรก ท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๒ ท่านได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๓ ท่านได้บรรลุเป็นพระอนาคามี และเมื่อโกนผมเสร็จ ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
เมื่ออุปสมบทแล้ว ด้วยอำนาจบุญบารมีที่สั่งสมมา ทำให้ท่านเป็นพุทธสาวกที่มีลาภสักการะมากมาย และลาภสักการะเหล่านั้นยังได้เผื่อแผ่ไปสู่พระสงฆ์สาวกท่านอื่นๆ ด้วย แม้พระบรมศาสดา เมื่อทรงพาหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จทางไกลกันดาร ถ้ามีพระสีวลีร่วมเดินทางไปด้วย ความขาดแคลนอาหารและที่พักอาศัยระหว่างทาง ก็จะไม่เกิดขึ้นแก่หมู่ภิกษุสงฆ์เลย
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงประกาศ ให้ปรากฏในหมู่พุทธบริษัท ตรัสยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง “ผู้มีลาภมาก”